ครม. อนุมัติแผนปฏิบัติการ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 ปี 2568-2570

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2568 – 2570 และระยะ 5 ปีต่อไป (แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2)

2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการ/กิจกรรมเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – 2567 หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการตามแผน จึงได้ดำเนินการถอดบทเรียนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง โดยการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนต่าง ๆ ใน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองฉบับที่ 2 รวมทั้งได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2

2. ในคราวประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ และมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

3. แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2 ให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด โดยใช้เครื่องมือและกลไกต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และการจัดการมลพิษข้ามแดน โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

หัวข้อรายละเอียด
(1) วิสัยทัศน์คุณภาพอากาศดี ด้วยการร่วมมือของทุกภาคส่วน
(2) เป้าหมาย1) ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 24 ชั่วโมง อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2) พื้นที่เผาไหม้ (Burnt scar) ลดลง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี
(3) กรอบแนวคิดการบริหารจัดการคุณภาพอากาศมีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องสุขภาพของประชาชน
และรักษาคุณภาพอากาศของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และหมอกควันข้ามแดนโดยการบูรณาการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

3.1 สถานการณ์และสาเหตุของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

3.1.1 พื้นที่ทั่วประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยรายปีฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2561 – 2567 อยู่ในช่วง 20 – 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในเวลา 24 ชั่วโมง อยู่ในช่วง 133.3 – 585.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไป ซึ่งบัญญัติไว้ว่า มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

3.1.2 สาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองมาจากแหล่งกำเนิด ดังนี้

1) ในพื้นที่เมืองมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในยานพาหนะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น การสะสมของฝุ่นละอองในบริเวณตึกสูงเนื่องจากมีการระบายอากาศที่ต่ำ

2) ในพื้นที่ป่าเกิดจากการเผาในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบนที่มักจะเกิดเหตุการณ์ไฟป่าเนื่องจากประชาชนเผาป่าเพื่อการหาของป่า ล่าสัตว์ และขยายพื้นที่ทำกิน

3) ในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก เช่น บริเวณภาคกลางที่สามารถเพาะปลูกข้าวได้หลายครั้งต่อปีทำให้เกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการปลูกข้าวรอบใหม่โดยเร็ว การเผาจึงเป็นวิธีที่ใช้เวลาน้อยและไม่ต้องลงทุน

4) หมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากลมฤดูแล้งพัดพาหมอกควันและฝุ่นละอองข้ามแดน

3.2 มาตรการและแนวทางการดำเนินงาน แยกตามแหล่งกำเนิดหลักที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองด้วยการพัฒนาเครื่องมือ กลไก เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบมาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้

3.2.1 มาตรการในพื้นที่เมือง ประกอบด้วย 3 ภาคส่วน เช่น

ภาคคมนาคม เร่งรัดการจัดหารถโดยสารมลพิษต่ำหรือรถโดยสารไฟฟ้ามาทดแทน รถโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปให้เป็นไปตามเป้าหมายและครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในเขตเมืองโดยเร็ว กำหนดให้มีพื้นที่ควบคุมพิเศษ (Low Emission Zone) และบังคับใช้มาตรการและกฎหมายควบคุมควันดำอย่างเข้มงวด

ภาคอุตสาหกรรม นำข้อมูลจากระบบการรายงานการระบายมลพิษอากาศผ่านระบบ Online ของโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้เพื่อการบริหารจัดการปัญหามลพิษอากาศ และเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ กำหนดการบริหารจัดการการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการระบายมลพิษทางอากาศสูง หรือหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อลดปัญหาในช่วงวิกฤติฝุ่น

ภาคเมือง ส่งเสริมสนับสนุนให้นำพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานสะอาดมาใช้กับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างประเภทต่างๆ

3.2.2 มาตรการในพื้นที่ป่า มุ่งเน้นการบริหารจัดการปัญหาการเผาในพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชน โดยจัดให้มีระบบเฝ้าระวังป้องกันการเกิดไฟ การจัดทำแนวกันไฟ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง กำหนดกฎ ระเบียบ กติกา การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าและสร้างความร่วมมือ
ในการป้องกันรักษาป่า

3.2.3 มาตรการในพื้นที่เกษตรกรรม มุ่งเน้นการบริหารจัดการปัญหาการเผาและแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมโดยต้องมีฐานข้อมูลในระดับพื้นที่ การป้องกันและแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การกำหนด พื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสม การปรับโครงสร้างการผลิต การจัดการแปลงและการเก็บเกี่ยวโดยไม่มีการเผา การจัดการวัสดุทางการเกษตร การพัฒนามาตรฐาน และการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรที่ปลอดจากการเผา

3.2.4 มาตรการภาคมลพิษข้ามแดน มุ่งเน้นการใช้มาตรการการประสานความร่วมมือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเจรจาระหว่างประเทศ การพิจารณาควบคุมการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์และสินค้า และกำหนดความรับผิดของผู้ก่อซึ่งก่อให้เกิดหรือร่วมก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศข้ามแดน

3.2.5 มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เป็นมาตรการเสริมเพื่อให้การดำเนินการป้องกัน ลด ควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากแหล่งกำเนิดภาคต่าง ๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีการสื่อสารและระบบแจ้งเตือนคุณภาพอากาศที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายทันต่อสถานการณ์ เพื่อการเฝ้าระวังภาวะมลพิษทางอากาศและผลกระทบจากมลพิษทางการอากาศต่อสุขภาพในช่วงวิกฤตรวมถึงการจัดให้มีระบบการปกป้องสุขภาพของประชาชน ดำเนินมาตรการทั้งในระยะแรก พ.ศ. 2568 – 2570 และระยะ 5 ปีต่อไป เช่น พัฒนาศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบริหารจัดการคุณภาพอากาศที่มีการเฝ้าระวัง ติดตามและรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศแหล่งกำเนิด ข้อมูลอัตราป่วยกลุ่มโรค ที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชนในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

3.3 กลไกและแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง คือ มติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมด้วยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำมาตรการและแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ โดยใช้กลไก 3 ระดับ ได้แก่  
1) กลไกระดับชาติ : คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการ มอบหมาย ควบคุม กำกับ และติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2) กลไกระดับกลุ่มจังหวัด/แบบข้ามเขต : วิธีการบริหารจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีลักษณะเฉพาะของสภาพปัญหาความเฉพาะของระบบนิเวศ หรือกลุ่มเฉพาะด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องข้ามพื้นที่หรือข้ามจังหวัด

3) กลไกระดับพื้นที่ : ระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ อำนวยการสั่งการ และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง