ครม. เห็นชอบผ่อนผันแรงงานกัมพูชาที่ใช้ Border Pass และทำงานชายแดนไทย-กัมพูชา อยู่ทำงานต่อในไทยได้อีก 6 เดือน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ เรื่อง แนวทางผ่อนผันให้แรงงานสัญชาติกัมพูชาเข้ามาทำงานบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีบัตรผ่านแดน (Border Pass) อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลและในท้องที่ที่กำหนดได้ สำหรับจะใช้บังคับกับท้องที่ใด คนต่างด้าวสัญชาติใด เพื่อทำงานประเภทหรือลักษณะใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใด ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการออกประกาศกำหนดตามบทบัญญัติดังกล่าว) ซึ่งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีการใช้บังคับมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้คนต่างด้าวสามารถทำงานได้เฉพาะในท้องที่ ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี (พื้นที่จังหวัดชายแดน) และท้องที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงกำหนดประเภทหรือลักษณะงาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน โดยสามารถ เดินทางเข้ามาทำงานได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน และพำนักในราชอาณาจักรได้ครั้งละ 30 วัน และก่อนครบระยะเวลาอนุญาตให้พำนักดังกล่าว คนต่างด้าวจะต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและเดินทางกลับเข้ามา เพื่อให้ได้รับการประทับตราอนุญาตให้พำนักในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 30 วัน

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ กระทรวงแรงงานเสนอ การกำหนดแนวทางการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของ     คนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่สามารถเข้ามาทำงานในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาล ในท้องที่บริเวณชายแดน ในประเภทงานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน โดยที่จะได้รับอนุญาตให้ทำงานเป็นระยะเวลา 3 เดือน และให้พำนักในราชอาณาจักรได้ครั้งละ 30 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการให้พำนักดังกล่าวแล้ว แรงงานต่างด้าวจะต้องเดินทางกลับออกไปและเดินทางเข้าในราชอาณาจักรเพื่อดำเนินการให้ได้รับการประทับตราอนุญาตให้พำนักในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 30 วัน อีกครั้ง แต่จากสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ทำให้มีมาตรการควบคุมการผ่านแดนระหว่างประเทศทั้งสอง ส่งผลให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่อายุการทำงานหรือระยะเวลาการอนุญาตให้พำนักได้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งจะต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อเดินทางกลับเข้ามาใหม่ ไม่สามารถเดินทางเข้า – ออกได้ ทำให้อยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต (Overstay) และมีสถานะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่ไม่สามารถเดินทางเข้า – ออกบริเวณชายแดนได้ เพื่อไม่ให้อยู่ในสถานะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จนส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ผ่อนผันให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ที่ใช้เอกสารประจำตัวบุคคลประเภทบัตรผ่านแดน (Border Pass) เป็นเอกสารแสดงตน ทั้งที่มีอายุหรือหมดอายุซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดน ที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลใช้บังคับ (วันที่ 7 มิถุนายน 2568) หรือจนกว่ามาตรการควบคุมการผ่านแดนระหว่างประเทศทั้งสองกลับสู่ภาวะปกติ และให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับคนต่างด้าวกรณีอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด

ให้คนต่างด้าวดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งชำระค่ายื่นคำขอ จำนวน 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน จำนวน 225 บาท โดยจะได้รับอนุญาตทำงานครั้งละ 3 เดือน และหากประสงค์จะทำงานในราชอาณาจักรต่อไปให้ยื่นคำขออนุญาตทำงาน
พร้อมทั้งเอกสารและหลักฐานตามที่กำหนด และชำระค่าธรรมเนียมภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอ พร้อมทั้งให้คนต่างด้าวไปดำเนินการตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน สำหรับคนต่างด้าวซึ่งทำงานในกิจการหรือเป็นลูกจ้างที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม เช่น คนรับใช้ในบ้าน ทำงานเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ซึ่งไม่ได้จ้างตลอดทั้งปี หรือทำงานเป็นครั้งคราว หรือตามฤดูกาล จะต้องทำประกันสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว
(ไม่สามารถทำประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชนได้)

กำหนดให้ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกประกาศตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อกำหนดประเภทงานและท้องที่การทำงาน ให้คนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างได้ตามประเภทงานและท้องที่ที่กำหนดในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีการใช้บังคับมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และให้แรงงานต่างด้าวสามารถเปลี่ยนตัวนายจ้างหรือเพิ่มนายจ้างได้ 3 ราย ในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับอนุญาตทำงาน (เดิมไม่สามารถทำได้)

ให้คนต่างด้าวไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองครั้งแรกภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2568 และให้รายงานตัวทุก ๆ 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดครั้งก่อน โดยสามารถรายงานตัวก่อนได้ไม่เกิน 7 วัน

การยกเว้นให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานจะสิ้นสุดเมื่อมาตรการควบคุมการผ่านแดนระหว่างประเทศทั้งสองกลับสู่ภาวะปกติและให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้อีก 7 วัน
เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง