กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากพายุ “วิภา” ที่เคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบน และภาคเหนือตอนบน ว่า ส่งผลให้มีสถานการณ์ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ น่าน พะเยา เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ และ เลย เบื้องต้นส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,775 ครัวเรือน 32,176 คน มีผู้สูญหาย 1 ราย (ชายถูกน้ำพัด อ.ท่าวังผา) จังหวัดน่าน
จังหวัดน่าน จากฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย ภูเพียง ปัว เชียงกลาง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ และเวียงสา ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,450 ครัวเรือน 27,565 คน มีผู้สูญหาย 1 ราย(ชาย เบื้องต้นขับขี่ จักรยานยนต์ถูกน้ำพัดอ.ท่าวังผา) โดย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหาย ให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย รถบรรเทาอุทกภัยและสูบส่ง 5 คัน เรือท้องแบน 2 ลำ ปัจจุบันยังคงมีฝนตกในพื้นที่และมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
จังหวัดเชียงราย น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ประกอบด้วย ป่าแดด เมืองฯ เทิง เวียงแก่น เชียงของ ขุนตาล เวียงเชียงรุ้ง เวียงชัย เวียงป่าเป้า แม่สรวย และพญาเม็งราย ประชาชนได้รับผลกระทบ 923 ครัวเรือน 3,415 คน โรงเรียน 8 แห่ง ถนน 11 สาย และพื้นที่การเกษตร ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีผู้เสียชีวิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ปัจจุบันยังคงมีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
จังหวัดพะเยา น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย ปง เชียงคำ จุน ดอกคำใต้ และภูซาง บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 82 ครัวเรือน 303 คน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีผู้เสียชีวิต โดย ศูนย์ ปภ.เขต 15 เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย สนับสนุนกระสอบทราย 13,600 ใบ รถขนย้ายผู้ประสบภัย 1 คัน เรือท้องแบน 8 ลำ รถประกอบอาหาร 1 คัน ปัจจุบันยังคงมีฝนตกในพื้นที่และระดับน้ำเพิ่มขึ้น
จังหวัดลำปาง น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ งาว และวังเหนือ ประชาชนได้รับผลกระทบ 316 ครัวเรือน 877 คน และพื้นที่การเกษตร ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีผู้เสียชีวิต โดย ศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหาย ให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ปัจจุบันไม่มีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำลดลง
จังหวัดเชียงใหม่ น้ำไหลหลากเข้าท่วมและดินสไลด์ในพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย พร้าว ฮอด แม่ออน และแม่อาย เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีผู้เสียชีวิต ศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ปัจจุบันไม่มีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
จังหวัดเลย น้ำท่วมขังพื้นที่ 1 อำเภอ คือ ด่านซ้าย เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 4 ครัวเรือน 15 คน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีผู้เสียชีวิต ศูนย์ ปภ.เขต 14 อุดรธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหาย ให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ปัจจุบันไม่มีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำทรงตัว
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนระวังฝนตกหนักถึงหนักมากจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “วิภา” และคาดว่าจะอ่อนกำลังลงอีก ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงต่อไปจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม นี้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
และเพื่อเป็นการรับมือสถานการณ์และผลกระทบจากพายุ “วิภา” กระทรวงมหาดไทยที่ได้จัดตั้ง War Room เพื่อติดตามสถานการณ์พายุวิภา โดยเริ่มเปิดปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 และยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์พายุวิภา พร้อมด้วย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรับมือสาธารณภัยเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น “การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง” โดยเฉพาะการนำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “Cell Broadcast” มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการรับมือภัยพิบัติได้ดียิ่งขึ้น จึงขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องจักรกลในพื้นที่เสี่ยง เพื่อสามารถเข้าปฏิบัติงานได้อย่างทันท่วงที ซึ่งต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชน หากเรามีการเตรียมการที่ดีและมีความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญมากกว่าการเยียวยาในภายหลัง แต่เมื่อเกิดเหตุแล้ว การเยียวยาอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชน จึงขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขของประชาชนทุกคน
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ติดตามสถานการณ์ของพายุ “วิภา” ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด แม้ว่าในขณะนี้พายุจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า โดยเน้นย้ำให้เฝ้าระวัง ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำหรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยนำเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้า เร่งตรวจสอบซ่อมแซมแนวคันดินริมแม่น้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ระบายน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำให้เหมาะสม และเตรียมพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักรกล และระบบสื่อสาร เพื่อการแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงที และขอเน้นย้ำแนวทาง 6 ข้อเพื่อให้การบริหารจัดการสถานการณ์เป็นไปอย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ ได้แก่
1. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยยึดหลักการรักษาชีวิตของประชาชนผู้ประสบภัยเป็นเรื่องสำคัญ และผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปปฏิบัติงานต้องได้รับความปลอดภัยอย่างสูงสุดด้วยเช่นเดียวกัน
2. การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมาก รวมถึงพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ดินถล่มเนื่องจากปริมาณฝนสะสมหรือฝนตกกระหน่ำ ที่เราเรียกว่า “เรนบอม” ซึ่งต้องแจ้งเตือนประชาชน และหากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือจุดที่รองรับการอพยพไว้ก่อน เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน
3. บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพตามแผนเผชิญเหตุที่แต่ละพื้นที่ได้กำหนดไว้ โดยมีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น เป็นศูนย์ควบคุมสั่งการและอำนวยการในการระดมสรรพกำลัง ตลอดจนประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้แบ่งและมอบหมายให้มีความรับผิดชอบในภารกิจอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสนในการปฏิบัติงาน
4. ให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ดูแลด้านการดำรงชีพ จัดตั้งโรงครัวเพื่อประกอบอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีคุณภาพ การแจกถุงยังชีพต้องมีมาตรฐาน พร้อมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย ดูแลด้านความสงบเรียบร้อย ป้องกันการเกิดอาชญากรรม การลักขโมยทรัพย์สิน จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม การปิดเส้นทางคมนาคมที่มีน้ำท่วมขังซึ่งเป็นอันตรายต่อการสัญจรพร้อมติดป้ายและเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนอำนวยความสะดวก และจัดเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย ตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว หากมีความเสี่ยงให้ทำการตัดกระแสไฟฟ้าทันที โดยเฉพาะในเขตชุมชนและเขตสถานศึกษา
5. ในพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านชีวิต ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย พื้นที่เกษตร สิ่งสาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณประโยชน์ พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ต้องให้การช่วยเหลือเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครอบครัว
6. เรื่องการรายงานสถานการณ์ ให้ศูนย์อำนวยการกลางของแต่ละจังหวัดรายงานสถานการณ์อุทกภัย รวมถึงการให้การช่วยเหลือให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบด้วยข้อมูลที่ชัดเจน
เพื่อลดความสับสนของประชาชน และให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขตนอกพื้นที่ เข้าสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ภาคเหนือ โดยติดตั้งเครื่องจักรในพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งส่งเฮลิคอปเตอร์ KA-32 พร้อมเจ้าหน้าที่ The Guardian Team ไปประจำ ณ ฐานการบินจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงยาก รวมถึงได้มีการประสานการปฏิบัติกับจังหวัด โดยได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มไว้เป็นการล่วงหน้า เน้นย้ำให้ความสำคัญการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน การดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ การเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว และการเตรียมการดูแลด้านการดำรงชีพ จัดเตรียมบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข การบริหารจัดการน้ำให้คำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนให้มีน้อยที่สุด และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ ข้อมูลข่าวสาร และการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทาง Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป