หน่วยงานรัฐบูรณาการรับมือพายุ “วิภา” ช่วยเหลือประชาชนให้ทันสถานการณ์

จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “วิภา” ที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำ ได้ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ระหว่างวันที่ 21-24 กรกฎาคม 2568 รัฐบาลขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ระบุว่า “จากสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุวิภา รับทราบว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่ระบบเตือนภัย Cell Broadcast และมีการตั้งวอร์รูม 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งศูนย์อพยพ เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โรงครัว ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามการแจ้งข่าวจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่อย่างเต็มกำลังขณะนี้ เราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน”

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ครั้งที่ 3/2568 ผ่านระบบออนไลน์กับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมพร้อมทุกหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ร่วมบูรณาการเพื่อรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรและประชาชน ทั้งด้านพืช ประมง และ ปศุสัตว์ โดยสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์จังหวัด ให้ตรวจติดตามและบูรณาการทรัพยากรของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระยะเร่งด่วนและระยะฟื้นฟู

2. เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ให้ประเมิน วิเคราะห์ และสำรวจพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาเพื่อหยุดยั้งความเสียหาย เช่น การเร่งระบายน้ำ อพยพสัตว์ บำบัดน้ำเสีย และดำเนินการเยียวยาตามระเบียบของกระทรวงการคลัง โดยประสานงานร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด

3. หน่วยงานในสังกัด เตรียมความพร้อมตามภารกิจ ได้แก่ กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมเครื่องมือ-เครื่องจักร และเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือจุดเสี่ยงที่อาจเกิดอุทกภัย กรมปศุสัตว์ เตรียมอพยพสัตว์ จัดเตรียมเสบียง-อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ และทีมแพทย์ดูแลสุขภาพสัตว์ กรมประมง เตรียมการเฝ้าระวังบ่อปลา กระชังในพื้นที่เสี่ยง กรมพัฒนาที่ดิน เตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อบำบัดน้ำเสีย และ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเตรียมอากาศยานสนับสนุนการปฏิบัติการช่วยเหลือในพื้นที่ประสบอุทกภัย

ขอให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ติดตามข่าวสารและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น หากมีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือด้านการเกษตร สามารถติดต่อสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวง เตรียมความพร้อมและเร่งช่วยเหลือประชาชน  โดยให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ยกระดับการทำงานเป็น “ศูนย์บัญชาการและวิเคราะห์สถานการณ์” (War Room) ตลอด 24 ชั่วโมง  ใช้ระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เทคโนโลยี*โทรมาตรอัตโนมัติ และข้อมูลจากดาวเทียม วิเคราะห์ คาดการณ์ และชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงให้มีความแม่นยำและรวดเร็วที่สุด พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตือนภัย วางแผนอพยพ การระบายน้ำและการให้ความช่วยเหลือภาคพื้นดิน เป็นไปอย่างเอกภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด (*โทรมาตร คือ การวัดค่าต่างๆ จากระยะไกล และส่งข้อมูลเหล่านั้นไปยังสถานีควบคุม ผ่านทางเครือข่ายต่างๆ เช่น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรือดาวเทียม)

นอกจากนี้ ให้เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ สนับสนุนจังหวัดและชุมชน โดยใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวหรือศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือหากได้รับการร้องขอและให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ สสน. ร่วมกับทุกหน่วยงานในกระทรวง เผยแพร่ข้อมูล “รายงานสถานการณ์น้ำประจำวัน” ในช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เข้าถึงคนได้ทุกวัยและเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net แอปพลิเคชัน ThaiWater กลุ่มไลน์เครือข่าย อว.ในพื้นที่
ทุกจังหวัด และเครือข่ายชุมชนของ สสน. ทั่วทุกภูมิภาค

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำแผนเผชิญเหตุพร้อมแผนรับมือ ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือทั้งหมด โดยทุกโรงเรียนที่คาดว่าพายุจะเคลื่อนตัวผ่านต้องเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของ ไปไว้ในพื้นที่ปลอดภัย และต้องมีแผนดูแลนักเรียน ครู บุคลากร ให้ได้รับความปลอดภัยทุกคน หากโรงเรียนอยู่ในเส้นทางที่พายุเคลื่อนตัวผ่าน สามารถสั่งปิดได้ทันที พร้อมกำชับให้ทุกโรงเรียนทำการตัดแต่งต้นไม้ที่มีลักษณะไม่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการโค่นล้ม และกรณีของไฟฟ้า หากพบว่าน้ำท่วมสถานศึกษาต้องประสานกับการไฟฟ้าภูมิภาคในพื้นที่ให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที และหลังระดับน้ำลดลงอยู่ระดับที่ปลอดภัย ขอให้เขตพื้นที่ฯ เข้าไปตรวจสอบความเสียหายเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมืออิทธิพลจากพายุวิภา ในพื้นที่เสี่ยง 49 จังหวัดที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ดังนี้

1. ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมรองรับให้ทันเหตุการณ์และสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง

2. สถานพยาบาลที่อาจเสี่ยงได้รับผลกระทบ ให้เตรียมแผนจัดบริการนอกสถานพยาบาล ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ แผนอพยพเคลื่อนย้ายหรือส่งต่อผู้ป่วยหากพื้นที่น้ำท่วมสูง และดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิดให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

3. ให้หน่วยงานที่มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข รายงานการเปิดศูนย์ฯ ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) กองสาธารณสุขฉุกเฉิน

4. เฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ โรคที่มียุงเป็นพาหะ โรคติดเชื้อต่างๆ การเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ จมน้ำ ไฟฟ้าช็อต และดูแลสุขอนามัยของประชาชนในศูนย์พักพิงชั่วคราว

5. ให้จัดสถานที่พักสำหรับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ

6. เตรียมความพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน เวชภัณฑ์ และยา ที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที

7. ประเมินความเสียหายสถานบริการที่ได้รับผลกระทบ สิ่งก่อสร้างที่เป็นอันตราย

8. สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมแก่ประชาชนทุกช่องทาง รวมถึงเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ และตอบโต้ข่าวสารที่เป็นเท็จ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สั่งการให้ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน และ ศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ เตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักและอุทกภัยจากพายุวิภา โดยมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ดังนี้

1. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกันวางแผนช่วยเหลือ เตรียมการเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบาง และเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว

2. ชี้เป้าจุดพิกัดของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเคลื่อนย้าย

3. การคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของกลุ่มเปราะบางขณะเคลื่อนย้าย หากกลุ่มเปราะบางไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ ขอให้ชี้เป้าพิกัดแก่ ปภ. และท้องถิ่น ได้รับรู้ และให้ติดตามการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง

4. แนะนำการเตรียม “ถุงฉุกเฉิน” (Emergency Go Bag) สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น เอกสารสำคัญ เงินสด ยาประจำตัว ไฟฉาย แบตเตอรี่มือถือสำรอง เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเกิดภัย

5. จัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวของ พม.จังหวัด

6. ปรับปรุงแผนดูแลกลุ่มเปราะบางของจังหวัด สำรวจและวางแผนฝึกอาชีพระยะสั้น หลังเกิดภัย

โดยประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือจากกระทรวง พม. ได้ที่ สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เร่งจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุวิภา
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระดม “ชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว” จำนวน 60 ชุด พร้อมด้วยหน่วยบรรเทาสาธารณภัยจากสำนักงานพัฒนาภาคอีก 5 ชุด มีเครื่องมือและยุทโธปกรณ์เฉพาะกิจ อาทิ เรือท้องแบน รถวางสะพานเครื่องหนุนมั่น (Mobile Floating Bridge) สำหรับกรณีสะพานขาดหรือเสียหาย และรถผลิตน้ำประปาเคลื่อนที่ พร้อมจัดวางกำลังและยุทโธปกรณ์ในระดับพื้นที่เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เกาะติดสถานการณ์สภาพอากาศแปรปรวน เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ โดยได้ออกมาตรการรองรับสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบการบิน เพื่อเพิ่มระดับของความปลอดภัย และระดับประสิทธิภาพในการจัดการจราจรทางอากาศ ตามแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้โดยสารและอากาศยาน ใน 4 ด้าน ได้แก่

1. การให้บริการจราจรทางอากาศและการปฏิบัติการบิน เช่น การขอบินหลบสภาพอากาศ การจัดระยะห่างของเครื่องบินในขณะที่มีสภาพอากาศเลวร้าย การบินวนรอให้สภาพอากาศดีขึ้น หรือการขอเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังสนามบินสำรอง ให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

2. การให้บริการเครื่องอำนวยความสะดวกการเดินอากาศ ให้เฝ้าระวังและเตรียมการรองรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น กระแสไฟฟ้าขัดข้อง ภัยจากพายุฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วมขัง และส่งผลกระทบต่อระบบอุปกรณ์

3. การให้บริการจราจรทางอากาศ ให้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับท่าอากาศยาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรองรับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

4. อาคารสถานที่ เช่น หอควบคุมการจราจรทางอากาศ อาคารสถานีเครื่องช่วยการเดินอากาศ ให้ตรวจสอบสภาพการใช้งาน ความมั่นคงแข็งแรง ความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ เพื่อให้ทุกเที่ยวบิน เกิดความสะดวก คล่องตัว และความปลอดภัยทางการบินสูงสุด

สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางในช่วงนี้ อาจต้องพบกับความล่าช้าของเที่ยวบินบ้างในบางช่วงเวลา ในกรณีที่ฝนตกหนักหรือสภาพอากาศแปรปรวนบริเวณสนามบิน จึงขอให้ติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลข่าวสารจากสายการบินและท่าอากาศยานอย่างใกล้ชิด หากมีการปรับตารางการบิน หรือยกเลิกเที่ยวบิน และขอให้เผื่อเวลาการเดินทาง เพื่อให้สามารถเดินทางได้ตามกำหนดเวลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง