กองทัพบก เปิดเผยว่า หน่วยเฉพาะกิจที่ดูแลพื้นที่ปราสาทตาเมือน รายงานว่า ได้ยินเสียงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ของฝ่ายกัมพูชาบินวนอยู่บริเวณหน้าปราสาทตาเมือนธม แม้ไม่สามารถตรวจพบตัวอากาศยานได้ด้วยสายตา แต่สามารถได้ยินเสียงอย่างชัดเจน ต่อมาฝ่ายกัมพูชาได้นำอาวุธเข้าสู่ที่ตั้งบริเวณด้านหน้าแนวลวดหนาม และพบกำลังพลกัมพูชาจำนวน 6 นาย พร้อมอาวุธครบมือรวมทั้ง RPG เดินเข้ามาใกล้แนวลวดหนามบริเวณด้านหน้าฐานปฏิบัติการของไทย ฝ่ายไทยได้ใช้การตะโกนเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและยกระดับสถานการณ์ โดยฝ่ายไทยเฝ้าระวังตลอดแนวชายแดนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 08.20 น. ฝ่ายกัมพูชาได้เปิดฉากยิงเข้ามาบริเวณตรงข้ามฐานปฏิบัติการทางทิศตะวันออกของปราสาทตาเมือน ในระยะประมาณ 200 เมตร ทำให้สถานการณ์บานปลายและเกิดการปะทะกันขึ้น
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นัดพิเศษ) ณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ร่วมประชุม
หลังการประชุม นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นการประชุมสภาความมั่นคงนัดพิเศษอันเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันที่ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเชิญเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาร่วมประชุม ให้เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษด้วย มีสาระสำคัญ ได้แก่
1. สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ได้มีเหตุปะทะกัน ซึ่งที่ได้รับรายงานจากหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ เป็นการยิงเข้ามาของทางกัมพูชาก่อน และได้เกิดเหตุบานปลายขึ้น จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามาได้มีการใช้อาวุธในระดับต่างกัน สิ่งที่สำคัญ คือ การยิงของกัมพูชาได้ใช้อาวุธในการยิงเข้ามาในเขตแดนของประเทศไทยโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเขตที่เกี่ยวข้องกับพลเรือน ล่าสุดกองทัพภาคที่ 2 สรุปการสู้รบกับทหารกัมพูชาหลังทหารไทยถูกโจมตี มีประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 32 คน (ได้รับบาดเจ็บ 20 คน เสียชีวิต 12 คน)
2. สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้กระทบพื้นที่ใน 4 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ เรายังมีการระมัดระวังและป้องกันอย่างเต็มที่ โดยให้กระทรวงมหาดไทยอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ให้ไกลกว่ารัศมี 50 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ปลอดภัยที่สุด พร้อมทั้งดูแลประชาชนและดำเนินการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีแผนที่เคยซักซ้อมอยู่แล้ว และการดำเนินการเป็นไปอย่างเรียบร้อย พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลทรัพย์สินประชาชนที่อพยพออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งประณามว่าเป็นการใช้อาวุธหนักที่รุนแรง ไม่มีเป้าหมายและไม่ได้จำกัดเฉพาะการต่อสู้ เป็นการยิงเข้ามา บางลูกเข้ามาที่สถานีบริการน้ำมัน ที่ร้านสะดวกซื้อ และบางส่วนยิงลงเข้ากลางโรงพยาบาล บางส่วนห่างจากพื้นที่โรงพยาบาล 3 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการใช้กำลังและดำเนินการโดยไม่ได้ยึดเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องคำนึงถึงและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่การประกาศสงคราม แต่เป็นเรื่องการปะทะกัน ซึ่งเรายังยืนยันหลักการว่า ต้องใช้สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงและต้องพยายามพูดคุยกันในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดูแลความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบที่มีอยู่
กระทรวงศึกษาธิการได้สั่งปิดโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงชั่วคราว
กระทรวงสาธารณสุขได้เปลี่ยนโรงพยาบาลในพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว รวมถึงอพยพคนป่วย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดไปสู่โรงพยาบาลอื่นๆ ที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว
สำหรับมาตรการด้านการต่างประเทศ รัฐบาลได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาลง โดยเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศไทย และส่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับสู่ประเทศ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่มีความรุนแรงที่สุดในทางการทูต และขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยยึดมั่นในหลักการแห่งการปกป้องอธิปไตยของชาติ และจะไม่ยอมให้มีการละเมิดเขตแดนของประเทศโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งรับผิดชอบในการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ ประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการกระทำของกองทัพกัมพูชาที่ละเมิดอธิปไตยของไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งต่อเหตุการณ์ที่ฝ่ายกัมพูชาลอบเข้ามาวางกับระเบิดในดินแดนไทย เป็นผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 16 และ 23 กรกฎาคม 2568 และได้เปิดฉากยิงเข้ามาบริเวณตรงข้ามฐานปฏิบัติการของฝ่ายไทยในช่วงเช้าของวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 อีกทั้งได้โจมตีอย่างรุนแรงต่อเนื่อง รวมถึงเป้าหมายพื้นที่ที่เป็นพลเรือน โดยเฉพาะโรงพยาบาล จนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมทั้งเรียกร้องให้กัมพูชายุติการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงซ้ำ ๆ และเรียกร้องให้กัมพูชาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยุติการโจมตี และละเมิดอธิปไตยของไทยทันที โดยรัฐบาลไทยพร้อมที่จะยกระดับมาตรการป้องกันตนเอง หากกัมพูชายังคงไม่ยุติการกระทำที่เป็นการโจมตีทางอาวุธและละเมิดอธิปไตยของไทยตามหลักสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ
ทางด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแถลงการณ์ประณามกัมพูชาเรื่องการโจมตีโรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดสุรินทร์ และพื้นที่พลเรือนตามแนวชายแดนอีกหลายจังหวัด ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่เพียงเป็นการคุกคามอธิปไตยของชาติ แต่ยังเป็นการเหยียบย่ำคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง และยังเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม (War Crime)
สำหรับผลกระทบทางด้านพลังงานนั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมด่วนผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงพลังงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉินบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนด้านพลังงานให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมอบหมายให้ตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน” เพื่อติดตามสถานการณ์และสั่งการหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ด้านพลังงาน จนกว่าสถานการณ์จะยุติลง โดยได้สั่งการให้สถานีบริการน้ำมันที่อยู่ใกล้จุดปะทะบริเวณชายแดนงดให้บริการชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชน ขณะเดียวกันได้สั่งการให้สถานีบริการน้ำมันในเขตอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่นอกพื้นที่เสี่ยงยังคงเปิดบริการตามปกติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความจำเป็นในการเดินทางและภารกิจฉุกเฉินของภาครัฐ อาทิ รถพยาบาล รถดับเพลิง รถตำรวจ ทหาร รวมถึงภารกิจด้านความมั่นคง ซึ่งต้องสามารถเข้าถึงเชื้อเพลิงได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนระบบไฟฟ้า ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นหลักในการประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดทีมซ่อมบำรุงประจำพื้นที่ เตรียมความพร้อมกรณีเกิดความเสียหายต่อระบบไฟฟ้า หรือสายส่งที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะ เพื่อให้สามารถฟื้นฟูระบบได้อย่างรวดเร็วและลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนให้น้อยที่สุด ทั้งนี้กระทรวงพลังงานกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีแนวทางรองรับตลอดเวลา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ปะทะและบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้