รัฐบาลย้ำทุกหน่วยงานรัฐใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้าน ให้เกิดประโยชน์ โปร่งใส เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/2568 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม กล่าวก่อนการประชุมว่า เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาเรื่องการขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพ และสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับ GDP (Gross Domestic Product) ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งได้อีกครั้ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการ/รายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้วงเงิน 157,000 ล้านบาท

นายภูมิธรรม เน้นย้ำว่า งบประมาณถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะผลการเจรจาเรื่องภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ วันนี้ขอให้คณะกรรมการ ร่วมกันทบทวนและพิจารณาข้อเสนอโครงการตามมติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ และสอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้งบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แน่นอนและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

โดยที่ประชุมฯ รับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 เรื่อง ข้อเสนอโครงการ/รายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าการขอรับจัดสรรและผลการอนุมัติจัดสรรโครงการ/รายการตามแผนฯ ซึ่งสามารถติดตามความก้าวหน้าของการจัดสรรงบประมาณโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท  ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.bb.go.th/peoplewatch/ ได้โดยตรงหรือเว็บไซต์สำนักงบประมาณ https://www.bb.go.th/

นางสาวศศิกานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลักการและแนวทางการทบทวนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องคำนึงถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การตรวจสอบ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ และการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อตอบโจทย์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอนาคต”

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 โดยผ่านการพิจารณาแล้ว 115,375 ล้านบาท ครอบคลุม 481 โครงการ (8,939 รายการ) จาก 50 หน่วยงาน เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและสร้างผลลัพธ์
ในระยะยาว โดยมีสาระสำคัญแบ่งตามด้านต่างๆ ดังนี้

  1. โครงสร้างพื้นฐาน (85,000 ล้านบาท)
  2. ด้านน้ำ (39,136 ล้านบาท) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ พื้นที่ได้รับประโยชน์ 4.8 ล้านไร่ จ้างงาน 73,807 คน/เดือน
  3. ด้านคมนาคม (45,864 ล้านบาท) พัฒนาถนน 417 กม. และยกระดับจุดเสี่ยงกว่า 1,600 แห่ง จ้างงาน 285,000 คน
  4. ด้านการท่องเที่ยว (10,053 ล้านบาท)
  5. ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย
  6. คาดดึงนักท่องเที่ยวเพิ่ม 2.7 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 55,000 ล้านบาท
  7. ด้านเกษตร แรงงาน และดิจิทัล (11,122 ล้านบาท)
  8. เกษตร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและสถาบันเกษตร
  9. แรงงาน สนับสนุน SMEs กว่า 1,700 แห่ง รักษาการจ้างงาน 100,000 คน
  10. ดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการค้า การเกษตร และบริการประชาชน
  11. เศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ (9,200 ล้านบาท)
  12. พัฒนา SML กองทุนหมู่บ้าน การศึกษา และเศรษฐกิจฐานราก

ผลที่ได้ทางเศรษฐกิจ

  • งบประมาณเน้นกระจายไปยังพื้นที่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะภาคอีสาน
  • จังหวัดยากจนและขนาดเศรษฐกิจเล็กได้รับงบมาก ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจสูง
  • ส่งเสริมการจ้างงานกว่า 7.4 ล้านคน เงินจ้างงานหมุนเวียนกว่า 34,000 ล้านบาท
  • คาดกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.4
  • วางรากฐานการพัฒนาในระยะยาว ทั้งทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน และการยกระดับ
    ขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับการอนุมัติภายใต้วงเงิน 115,375 ล้านบาท ล้วนเป็นโครงการที่มีความพร้อม ดำเนินการได้ทันที เนื่องจากมีแผนงานชัดเจนและสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในกรอบงบประมาณกลางปี 2568 โดยต้องลงนามในสัญญาผูกพันงบประมาณภายในวันที่ 30 กันยายน 2568 และใช้จ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2569 สำหรับวงเงินส่วนที่เหลือประมาณ 41,000 ล้านบาท จากกรอบงบประมาณรวม 157,000 ล้านบาท จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมในรอบถัดไป

นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง ชี้แจงกรณีข่าวที่ระบุว่า “การจัดซื้อจัดจ้างงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท ยื่นประมูลรายเดียว รับงานได้เลย”เป็นการนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วนและอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยระบุว่า กรณีที่มีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว หรือมีผู้ยื่นหลายรายแต่ตรงตามเงื่อนไขเพียงรายเดียว หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 56 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่าโดยหลักแล้วต้องยกเลิกการประกวดราคา เว้นแต่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรจึงจะดำเนินการต่อได้ตามข้อ 57 หรือ 58

ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย ความคุ้มค่า ความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 และประชาชนสามารถติดตามข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างตามกรอบ 1.57 แสนล้านบาท ได้จาก www.gprocurement.go.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง