ทุกส่วนราชการระดมกำลังช่วยเหลือประชาชนจากเหตุปะทะแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เน้นความปลอดภัย บรรเทาผลกระทบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโรงครัวพระราชทาน เพื่อสนับสนุนการประกอบอาหาร ดูแลชาวบ้านและผู้อพยพในพื้นที่ชายแดน โดย กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 ดำเนินการจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อสนับสนุนการประกอบอาหารพระราชทาน สำหรับแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนที่เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงอันตรายในชายแดนไทย – กัมพูชา นำมาซึ่งความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์

ขณะที่กระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างร่วมใจกันช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ชายแดนไทย – กัมพูชา รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของทหารอย่างเต็มที่

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งการกระทรวงพลังงาน ตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน” เพื่อติดตามสถานการณ์รับมือเหตุความตึงเครียด      ไทย-กัมพูชา ย้ำ “น้ำมัน-ไฟฟ้า” ต้องไม่ขาดแคลน และสั่งการให้สถานีบริการน้ำมันในเขตอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่นอกพื้นที่เสี่ยงเปิดบริการตามปกติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความจำเป็นในการเดินทางและภารกิจฉุกเฉินของภาครัฐ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการทุกหน่วยงานจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงจนกว่าสถานการณ์จะสงบ และหารือกับ 7 สายการบินพาณิชย์สัญชาติไทย ได้แก่ การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ส ไทยเวียตเจ็ท ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยแอร์เอเชียร์เอ็กซ์ และ นกแอร์
ในการเพิ่มจำนวนที่นั่งให้เพียงพอต่อการรองรับคนไทยกลับประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ยังเตรียมพร้อมการให้บริการจราจรทางอากาศและการบริหารห้วงอากาศ โดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญเร่งด่วน (Priority) ของภารกิจด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ และเตรียมเที่ยวบินเสริมพิเศษ ตามประกาศสถานทูตไทยให้คนไทยอพยพออกจากประเทศกัมพูชาทันที

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ตั้ง “War Room ติดตามและแก้ไขสถานการณ์ด้านการเกษตร ชายแดนไทย-กัมพูชา” เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และวิเคราะห์ผลกระทบด้านการเกษตรในพื้นที่จากสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชาอย่างใกล้ชิด วางแผนเผชิญเหตุและเสนอแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานในพื้นที่ และสื่อสารสถานการณ์แก่เกษตรกรและประชาชนให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว โดยจะใช้ระบบข้อมูลเชิงพื้นที่ (GIS-Based Dashboard) เพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรหลักที่อยู่ในรัศมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการตั้ง “ศูนย์ย่อยประสานงานจังหวัด” ในระดับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลภาคสนาม จากตำบล อำเภอ และประสานมาตรการเร่งด่วนในพื้นที่

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการด่วนถึงพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชา ให้เร่งเข้าดูแลสถานการณ์ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ พร้อมกำชับ
“ห้ามขาด ห้ามแพง” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งปิดโรงเรียนทุกแห่งในบริเวณที่เกิดเหตุการปะทะ เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ พร้อมกำชับให้โรงเรียนในเขตชายแดนจัดเตรียมแผนรับมืออย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเตรียมหลุมหลบภัย หรือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน รวมถึงสั่งการให้จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรองรับนักเรียนและครอบครัวที่อาจต้องอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง ทั้งนี้ นักเรียนที่เสียชีวิต กระทรวงศึกษาธิการจะเข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือครอบครัวอย่างเต็มที่

นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่คนไทยในกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาและประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยมีการจัดเตรียมมาตรการฉุกเฉินในทุกมิติ ซึ่งสายการบินพาณิชย์ต่างๆ แสดงความพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการจัดเที่ยวบินพิเศษหากจำเป็น โดยเน้นย้ำว่าการดูแลคนไทยในกัมพูชาเป็นภารกิจเร่งด่วนและสำคัญสูงสุด จึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา โดยคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนไทยเป็นสำคัญ

ขอให้คนไทยในกัมพูชาติดตามข่าวสารและขอความช่วยเหลือได้ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ที่หมายเลข +85577 888 114 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเสียมราฐ +85586 608 999 และ Call Center กรมการกงสุล +6625 728 442 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

กองทัพบก ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายปกครองและผู้นำชุมชนในพื้นที่ เร่งดำเนินการอพยพประชาชนไปยังพื้นที่รวบรวมพลเรือน โดยขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทำการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน ซึ่งกองทัพบกพร้อมปกป้องอธิปไตยและประชาชนให้ปลอดภัยจากการกระทำอันผิดหลักมนุษยธรรมของฝ่ายกัมพูชาอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ขณะที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
สั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและในพื้นที่ 9 ข้อ ดังนี้

1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ เพื่อวิเคราะห์และประสานสั่งการด้านสุขภาพ

2. ประเมินสถานการณ์โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง การปิดโรงพยาบาลในเขต Hot Zone และประสานหน่วยแพทย์ทหารตามแนวทางที่กำหนดไว้

3. วางแผนเส้นทางและระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากพื้นที่ชายแดนไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมทั้งในและนอกจังหวัดอย่างรวดเร็วและปลอดภัย

4. จัดเตรียมโรงพยาบาลในพื้นที่และโรงพยาบาลคู่ขนาน ให้มีเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก ห้องผ่าตัด และห้องฉุกเฉินที่พร้อมใช้งาน

5. ตรวจสอบและสำรองยา เวชภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ อุปกรณ์กู้ชีพ และเครื่องมือจำเป็นให้เพียงพอ โดยเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บจากสงครามและโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉิน

6. ให้มีการประสานงานหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ การเคลื่อนย้ายประชากร และความต้องการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน

7. สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพและให้ข้อมูลกับผู้ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนเข้าใจง่าย เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก

8. ดูแลสุขอนามัยในจุดพักพิงเพื่อป้องกันโรคจากสิ่งแวดล้อมเฝ้าระวังและควบคุมโรค รวมถึงให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

9. หากมีข้อสงสัยหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติให้รายงานต่อศูนย์ PHEOC ส่วนกลางเพื่อให้การสนับสนุนโดยด่วน

ทางด้านนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีคำสั่งเร่งด่วนให้ทุกมหาวิทยาลัยในสังกัดที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงชายแดนไทย-กัมพูชา เปิด “ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยการปะทะชายแดน (อว.เพื่อประชาชน)” เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปะทะกันของทหารไทยและกัมพูชา

สำหรับการอำนวยความสะดวกเรื่องการติดต่อสื่อสาร นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี พื้นที่จังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ศรีษะเกษ สุรินทร์ และ บุรีรัมย์ ให้ความช่วยเหลือประชาชน และให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ดูแลอำนวยความสะดวกด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้กับกองกำลังทหารในพื้นที่ และติดตั้งจุดให้บริการ Free Wi-Fi ในพื้นที่บริเวณศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อให้บริการแก่ประชาชน อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนโทรฟรีไปยังสถานเอกอัครราชทูตกรุงพนมเปญ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเสียมราฐ ฟรีตลอด 24 ชม. ตั้งแต่บัดนี้ – 31 กรกฎาคม 2568 และอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงาน/สถานที่ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่ตามแนวเขตชายแดนไทย-กัมพูชา โดยติดตั้งการใช้งานฟรี จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ยังตรวจสอบและแก้ไขข่าวเท็จเกี่ยวข้องกับประเด็นความไม่สงบ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti-Fake News Center) เพื่อไม่ให้สร้างความตื่นตระหนก และมีผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

ส่วนนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สั่งการให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายเปิดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เป็นปกติในพื้นที่แนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่ออำนวยความสะดวก และสนับสนุนภารกิจด้านการสื่อสารให้กับกองกำลังทหารในพื้นที่เป็นกรณีเฉพาะกิจ หลังเกิดเหตุปะทะบริเวณพื้นที่แนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา

นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า มีมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เป็นผู้ประกันตน กรณีผู้เสียชีวิตเป็นลูกจ้างและเสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน ทายาทจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ประกอบด้วย ค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตเป็นเงินร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 10 ปี และเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมดอกผล ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บจะได้รับ ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น 65,000 – 1,000,000 บาท หากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษาจะได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา กรณีแพทย์รับรองให้หยุดพักรักษาตัว มีสิทธิได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนไม่เกิน 1 ปี หากมีการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานจะได้รับค่าทดแทน กรณีสูญเสียอวัยวะร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนตามอัตราการสูญเสีย และในกรณีทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนตลอดชีวิต

สำหรับด้านการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำชับให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กเล็ก และสตรีแม่เลี้ยงเดี่ยว ให้ทีม ศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ. พม.) จังหวัด ส่งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่เข้าไปดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เตรียมพร้อมในกรณีที่ต้องเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้ทุกหน่วยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมอบกายอุปกรณ์ขาเทียมไดนามิกส์ sPace เพื่อช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวในการดำรงชีวิตให้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปได้มากที่สุด และให้การดูแลช่วยเหลือทุกครอบครัวของทหารที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง