รัฐบาลอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา เร่งดูแลครอบคลุมทุกมิติ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2568 เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้ความช่วยเหลือประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และทหารพราน ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ดังนี้

         1. กรณีเสียชีวิต รายละ 1,000,000 บาท

         2. กรณีทุพพลภาพ รายละ 700,000 บาท

         3. กรณีบาดเจ็บสาหัส รายละ 200,000 บาท

         4. กรณีบาดเจ็บมาก รายละ 100,000 บาท

         5. กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย รายละ 50,000 บาท

ประชาชนที่มีความประสงค์จะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา สามารถร่วมบริจาคได้ที่ “กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี” ธนาคาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทําเนียบรัฐบาล บัญชีเลขที่ 067-0-06895-0 โดยยอดเงินบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง ได้ขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา และอุทกภัยในภาคเหนือ โดยจังหวัดชายแดนที่ได้รับการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจังหวัดละ 100 ล้านบาท ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ครอบคลุมระยะเวลาเบื้องต้น 3 เดือน

นอกจากนี้ กรมบัญชีกลาง ยังเพิ่มวงเงินทดรองราชการจาก 20 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาทต่อจังหวัด ให้กับ 6 จังหวัดภาคเหนือที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ และลำปาง เพื่อรองรับการช่วยเหลือเร่งด่วน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชน รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ธนาคารออมสิน จัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ประกอบด้วย

1) มาตรการพักชำระเงินต้น สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาจนถึงงวดเดือนธันวาคม 2568 และให้จ่ายดอกเบี้ยเพียงบางส่วน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระหนี้

2) มาตรการสินเชื่อเพื่อรายย่อย จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

– สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือสำหรับประชาชนรายย่อย : ระยะเวลาผ่อนชำระ 12 เดือน ปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก ดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.60 ต่อเดือน

– สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพสำหรับประชาชนรายย่อย : ระยะเวลาผ่อนชำระ 60 เดือน ดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.75 ต่อเดือน

3) สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินงวดไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 = MLR – ร้อยละ 2.65 ปีที่ 2 เป็นต้นไป = MLR ยกเว้นค่าธรรมเนียม Front End Fee และ Prepayment Fee

ทั้งนี้ สามารถแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคารออมสินหรือติดต่อสาขาของธนาคารออมสินในพื้นที่ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนไทย – กัมพูชา ประกอบด้วย

1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2568 เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. เท่ากับร้อยละ 6.725 ต่อปี) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนในการซ่อมแซมบ้านเรือนทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR – 2 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าของธนาคารจากเหตุการณ์ชายแดน วงเงินโครงการ 200 ล้านบาท ดังนี้

1) กรณีผู้กู้บาดเจ็บสาหัส หรือที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย จะได้รับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยปีที่ 6 เป็นต้นไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธอส. กำหนด

2) กรณีผู้กู้ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงหรือเสียชีวิต หรือที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จะได้รับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา

3) กรณีกู้เพื่อปลูกสร้างอาคารใหม่ทดแทนอาคารเดิมจะได้รับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือนแรก และเดือนที่ 7 – 12 จะได้รับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 2 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่ ธอส. กำหนด โดยสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้วยการ พัก ลด ขยาย เติม ให้ SME ไปต่อได้ แม้เจอวิกฤต โดยการ

1) พัก ชำระเงินต้น

2) ลด ค่างวดการชำระ

3) ขยาย ระยะเวลาการชำระหนี้

4) เติม ทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการสินเชื่อปลุกพลัง SME และสินเชื่อ Beyond ติดปีก SME อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี

5) สินเชื่อ SME Refinance ลดต้นทุนธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2.99 ต่อปี

SME : ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางโดยภาพรวม /SMEs : หลายธุรกิจหรือผู้ประกอบการหลายราย

  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น

1) มาตรการบรรเทาผลกระทบเร่งด่วน ขยายระยะเวลาชำระหนี้สูงสุด 365 วัน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสูงสุดร้อยละ 20 จากอัตราเดิม และเพิ่มวงเงินชั่วคราว 1 ปี สูงสุดร้อยละ 30 ด้วยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น ร้อยละ 2.99 ต่อปี

2) มาตรการเสริมสภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินสนับสนุนการเปิดตลาดใหม่

– มาตรการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อออกงานแสดงสินค้า (EXIM-DITP Empower Financing) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.15 ต่อปี

– มาตรการเงินทุนหมุนเวียนก่อนและหลังการส่งออก (EXIM Export Booster) อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.99 ต่อปี

– เงินทุนหมุนเวียนหลังการส่งออกพร้อมประกันการส่งออก (EXIM Safe Trade) อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.99 ต่อปี พร้อมการชดเชยจาก ธสน. หากไม่ได้รับชำระค่าสินค้าจากคู่ค้า

– Export Credit Insurance ยกเว้นค่าวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับผู้เอาประกัน 5 ราย

– สินเชื่อระยะยาวร่วมกับสำนักงานประกันสังคม อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นคงที่ร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี

– สินเชื่อระยะยาวเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (Transformation Loan) อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสำหรับ SMEs ร้อยละ 5.68 ต่อปี

  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) มีมาตรการไอแบงก์เราไม่ทิ้งกัน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบด้วย

1) พักชำระเงินต้นและกำไร กำหนดอัตรากำไรตามสัญญาสินเชื่อเดิม ระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน ขยายระยะเวลาออกไปสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน หรือไม่เกินค่างวดชำระเดิม

2) ให้วงเงินเพิ่มเพื่อซ่อมแซม ฟื้นฟู ที่อยู่อาศัยและกิจการลูกค้า สำหรับสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัยอัตรากำไรเริ่มต้นร้อยละ 1.99 ในปีแรก วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 20 ปี และสำหรับสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ อัตรากำไรเริ่มต้นร้อยละ 3.25 ในปีแรก วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 5 ปี

  • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเดิมและมาตรการภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ได้แก่

1) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และลูกค้าเดิมของ บสย.

– ผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และค่าจัดการค้ำประกันโดยพักชำระออกไปอีก 6 เดือน นับจากวันถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียม

– พักชำระค่างวดเป็นระยะเวลา 3 เดือน

2) มาตรการเสริมสภาพคล่องภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 “บสย. SMEs ยั่งยืน”

– มาตรการ SMEs Power Trade & Biz วงเงินค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อราย 500,000 – 10 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชายแดนไทย – กัมพูชา

3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Micro Biz วงเงินค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกัน ต่อราย 10,000 – 500,000 บาท ตอบโจทย์กลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน แต่ขาดคนค้ำประกัน และขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน

กระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลกระทบในพื้นที่ โดยมุ่งช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ และฟื้นฟูกิจการอย่างต่อเนื่อง มาตรการที่จัดทำขึ้นครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ รวมถึงสามารถช่วยลดภาระต้นทุน เสริมสภาพคล่อง และสนับสนุนการปรับปรุง ซ่อมแซม หรือฟื้นฟูทรัพย์สิน เช่น อาคาร โรงงาน และเครื่องจักร ให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เกี่ยวข้องได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมได้ทันท่วงทีต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 800 หรือสายด่วน 11115
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือสายด่วน 1357
  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 169 9999
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 650 6999 หรือสายด่วน 1302

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999        

ข่าวที่เกี่ยวข้อง