พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชนจากเหตุการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ โดยได้รับฟังสรุปรายงานสถานการณ์และประเด็นสำคัญ และมอบนโยบายในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน พันตำรวจเอก ทวี ได้เน้นย้ำถึงหลักการในการดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติและต้องให้การช่วยเหลือทั้งในด้านกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการเยียวยาสภาพจิตใจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในด้านสภาพจิตใจของผู้อพยพหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่พิพาท สั่งการให้นักจิตวิทยาในสังกัดกระทรวงยุติธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านนี้หาแนวทางเยียวยาด้านจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงยุติธรรมหากสามารถสนับสนุนช่วยเหลือหน่วยงานอื่นได้ให้ดำเนินการทันที และสนับสนุนอย่างเต็มที่แบบไร้รอยต่อ พร้อมทั้งสั่งการให้จัดตั้งจุดให้คำปรึกษาทางกฎหมายในพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ได้รับผลกระทบ โดยกระทรวงยุติธรรมจะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
จากนั้นเดินทางไปยังโรงพยาบาลศรีสะเกษเพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ผู้บาดเจ็บ จำนวน 8 ราย พร้อมทั้งมอบสิ่งของ และแจ้งสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้บาดเจ็บ ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปยังวัดบ้านหนองสนม (ศูนย์อพยพ) ตำบลเหล่ากวาง อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีประชาชนที่พักอาศัยอยู่ จำนวน 631 คน และเยี่ยมให้กำลังใจญาติผู้เสียชีวิต จำนวน 4 ราย พร้อมมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ จากนั้นเดินทางไปยังโรงเรียนเบญจลักษณ์พิทยา (ศูนย์อพยพ) อำเภอเบญจลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจผู้อพยพชั่วคราวซึ่งเป็นประชาชนจากบ้านภูมิซรอล ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้เดินทางมาพักพิงตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยโรงเรียนเบญจลักษณ์พิทยา (ศูนย์อพยพ) ประกอบด้วย อาคาร จำนวน 6 หลัง ที่สามารถรองรับผู้อพยพได้ จำนวนประมาณ 2,100 คน
พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า รัฐบาลได้ยกระดับเรื่องเหตุการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยโดยเฉพาะประชาชนตามแนวชายแดน และต้อง ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจลักษณ์พิทยา จิตอาสา และทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันในเหตุการณ์ครั้งนี้ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ได้ให้กองทัพดำเนินการให้เต็มที่ซึ่งมีเป้าหมายไม่ใช่เพื่อป้องกันประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องขจัดผู้รุกรานที่มาก่อเหตุ
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยจุดแรกเดินทางไปที่โรงพยาบาลวังหิน อำเภอวังหิน รับฟังบรรยายสรุปติดตามสถานการณ์ ความพร้อมทางการแพทย์และสาธารณสุข เยี่ยมผู้ป่วยที่อพยพมาจากโรงพยาบาลภูสิงห์ ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้กับการปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชา พร้อมมอบสิ่งของที่จำเป็น ให้กำลังผู้ป่วยและทีมแพทย์พยาบาล ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง โรงพยาบาลปรางค์กู่ อำเภอปรางกู่ พร้อมกับเข้าเยี่ยมประชาชนที่ศูนย์อพยพ 2 แห่ง และโรงพยาบาลห้วยทับทัน เพื่อพบและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้มาเยี่ยมเยียนผู้ป่วยที่อพยพมาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งอยากมาให้กำลังบุคลากรทางการแพทย์ และมาขอบคุณในการทำหน้าที่ดูและประชาชนอย่างเข้มแข็งในช่วงสถานการณ์นี้ อีกทั้งได้ไปตรวจเยี่ยมศูนย์พักพิง 2 แห่ง มีประชาชนอพยพเกือบ 1,000คน แม้ว่าจะไม่สะดวกสบายนัก แต่ประชาชนยิ้มแย้มแจ่มใส มีการดูแลกันเป็นอย่างดี คนพักพิงกับคนดูแลมีจำนวนเกือบเท่ากันแสดงว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน ฝ่ายรัฐบาลก็คอยเติมเต็มให้ในส่วนที่ขาด ประชาชนที่ป่วยเรื้อรัง เช่น ฟอกไต ก็ได้ให้ขนอุปกรณ์ของกรมการแพทย์เข้ามาให้การช่วยเหลือแล้ว ทั้งนี้หากโรงพยาบาลที่ศรีสะเกษ ไม่เพียงพอ ก็ยังสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ที่จังหวัดอุบลราชธานีได้ แต่คิดว่ายังเพียงพอที่จะดูแลประชาชน
ทางด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บและผู้อพยพที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ซึ่งได้ปรับพื้นที่ให้เป็นศูนย์รองรับผู้ประสบเหตุจากชายแดน อำเภอบ้านกรวด จัวหวัดบุรีรัมย์ พร้อมให้กำลังใจประชาชนที่เข้าพักพิงภายในศูนย์ฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ซึ่งถูกอพยพมาจากพื้นที่ชายแดน และเคลื่อนย้ายจากศูนย์พักพิงชั่วคราวที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิตมายังศูนย์ฟื้นฟูของโรงพยาบาล โดยสามารถรองรับได้มากกว่า 1,000 คน
จากนั้นเดินทางไปยังโรงพยาบาลบุรีรัมย์ เพื่อเยี่ยมอาการของทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะชายแดน ซึ่งมีอาการบาดเจ็บเล็กน้อยบริเวณศีรษะ และยังได้เยี่ยมประชาชนอีก 1 รายที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดกระสุนบริเวณขา ซึ่งขณะนี้อาการปลอดภัยและอยู่ในระหว่างการพักฟื้น
นายสรวงศ์ กล่าวว่า ขอส่งกำลังใจมายังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชา และขอชื่นชมการบริหารจัดการของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่สามารถดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งแสดงถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอยืนหยัดเคียงข้างประชาชน เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยความปลอดภัย
ด้านการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษานั้น ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์พักพิงในจังหวัดสุรินทร์ อาทิ โรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา,โรงเรียนบ้านปราสาท,โรงเรียนบ้านหลัก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ พร้อมเปิดเผยว่า สถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชาในขณะนี้ถือเป็นวิกฤตที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะยืดเยื้อนานแค่ไหน กระทรวงศึกษาธิการจึงเร่งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นและส่วนกลาง เพื่อดูแลเด็ก ครอบครัว และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ให้ปลอดภัยที่สุด ขณะนี้ไม่เพียงแต่นักเรียนและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นผู้ประสบภัยด้วยเช่นกัน ครูเสียสละมาดูแลเด็กๆ ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวอย่างใกล้ชิด รู้สึกซาบซึ้งใจและขอขอบคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ที่แม้ต้องอพยพออกมาจากบ้านตัวเอง แต่ก็ไม่ลืมที่จะดูแล ปกป้องนักเรียนของตัวเอง การอพยพเด็กและครอบครัวของโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ มาอยู่ที่ศูนย์พักพิงเดียวกัน จะทำให้สามารถบริหารจัดการเด็กนักเรียนได้อย่างเป็นระบบ แต่เนื่องจากการอพยพเร่งด่วน ของใช้จำเป็นหลายอย่างจึงไม่ได้เตรียมมา ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้เป็นเจ้าของสถานที่ศูนย์พักพิงได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่และรัฐบาลเพื่อขอความอนุเคราะห์ ขอรับการสนับสนุนสิ่งของจำเป็นสำหรับศูนย์พักพิง ซึ่งขณะนี้มีการทยอยส่งมอบแล้ว โดยเฉพาะมุ้งที่ได้รับคำร้องขอเร่งด่วนจากประชาชน ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดส่งให้แล้ว
ส่วนการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แทนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การอพยพประชาชนกรณีภัยทางอากาศ จังหวัดสุรินทร์
นายชนินทร์ กล่าวว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ ที่มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 10 คน และมีผู้เสียชีวิต 4 คน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยฝากความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างยิ่ง โดยรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งพิจารณาการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และขอยืนยันเจตนารมณ์ในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยจะเร่งรัดการดำเนินการให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับสิทธิและความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้เร่งสำรวจตรวจสอบพื้นที่ทุกอำเภอ ในการเตรียมความพร้อมให้สามารถรองรับสถานการณ์ในทุกด้าน ทั้งสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ และระบบดูแลผู้อพยพ ทั้งที่อยู่ในศูนย์ และอยู่ใน ‘บ้านญาติ’ อย่าให้ขาดแคลน โดยมอบหมายนายอำเภอในพื้นที่เป็นผู้ประสานงานหลัก สำรวจความพร้อมของยุทโธปกรณ์และกำลังพล ทั้ง สมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน และตรวจสอบความพร้อมของระบบการสื่อสารในพื้นที่ชายแดนให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ นายชนินทร์ ยังได้เยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนในศูนย์พักพิงผู้อพยพจากเหตุการณ์ความรุนแรงชายแดนไทย-กัมพูชา ในพื้นที่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยพบว่า มีเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยทหาร ตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคง ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภายในบริเวณศูนย์พักพิง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอปราสาท ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสา ได้ร่วมกันดูแลพี่น้องประชาชนผู้อพยพ ให้ได้รับความสะดวกในด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันศูนย์พักพิงต่างๆมีความพร้อม และไม่ขาดแคลนอาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ
ส่วนการดูแลเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้ขาดแคลน หรือ มีราคาสูงเกินจริง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนและมอบสิ่งของจำเป็นแก่ผู้ประสบภัย ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่ว่าการอำเภอกันทรารมย์ วัดกันทรารมย์ และวัดหนองหัวช้าง เพื่อมอบสิ่งของช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประสบภัย รวมทั้งหมดกว่า 500 ชุด
นายสุชาติ เปิดเผยว่า ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตด้วยความสามัคคี และขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น และอาสาสมัคร ที่ร่วมกันอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงอย่างทันท่วงที พร้อมเน้นย้ำว่า แม้สถานที่พักจะไม่สะดวกสบาย แต่สิ่งสำคัญคือ “ขวัญและกำลังใจ” ที่ประชาชนได้รับจากการดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดอีกเรื่องสำคัญคือ สถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่ จากการสืบข้อมูลพบว่า ร้านค้าหลายแห่งเริ่มทยอยปิดทำการ เบื้องต้น นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดน ติดตามและจับตาสถานการณ์การค้าขายอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน หรือมีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ พร้อมมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ประชาชนที่อยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคและพืชผลทางการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ชายแดน พร้อมเร่งดำเนินการระบายสินค้าเกษตรคงค้างบริเวณชายแดน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ สำหรับประชาชนที่พบปัญหาสินค้าขาดแคลนหรือราคาสินค้าไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ภาครัฐสามารถเร่งเข้าไปดูแลและป้องกันการเอาเปรียบได้อย่างทันท่วงที ย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งประชาชน และจะเร่งบูรณาการความช่วยเหลือในทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยเร็วที่สุด
นางแพตริเชีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของกองกำลัง จากนอกประเทศ เพิ่มเติม หลังจากที่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 กรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี จังหวัดละ 100,000,000 บาท ซึ่งสถานการณ์ได้ยกระดับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เกิดการปะทะกันบริเวณแนวชายแดนในหลายพื้นที่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะยืดเยื้อและขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยที่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ได้มีการปิด 4 ด่านชายแดนไทย – กัมพูซา โดยกองทัพภาคที่ 1 ในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ อำเภอคลองหาด และอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ประกอบกับกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 25กรกฎาคม 2568 เรื่องให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ อำเภอมะขาม อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม และอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี และอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เพื่อให้จังหวัดข้างต้นสามารถช่วยเหลือประชาขนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และทันต่อสถานการณ์ จึงอนุมัติขยายเพิ่มเติมจังหวัดละ 100,000,000 บาท
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังได้อนุมัติ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของกองกำลังจากนอกประเทศ เนื่องจากวงเงินทดรองราชการ ในอำนาจอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยวงเงิน 40,000,000 บาท คงเหลือไม่เพียงพอ สำหรับปฏิบัติภารกิจจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้นเพื่อให้สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าแก่ผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรมบัญชีกลางจึงอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่มเติม 100,000,000 บาท