นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดน่านต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองน่าน ร่วมกับนายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และคณะ โดยได้ลงเรือตรวจเยี่ยมหมู่บ้านภูมินทร์–ท่าลี่ ซึ่งน้ำท่วมลึกสุดประมาณ 1.5 เมตร กระทบกว่า 400 ครัวเรือนพร้อมมอบถุงยังชีพ และกำชับเรื่องการลำเลียงอาหาร–น้ำโดยเรือเล็กเข้าสู่พื้นที่ด้วย
จากนั้นได้ร่วมกับกลุ่มจิตอาสาทำความสะอาดบริเวณสี่แยกวัดสวนตาล และลงพื้นที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย เพื่อให้กำลังใจผู้ประสบภัยราว 80 คน พร้อมบุคลากรการแพทย์และร่วมประกอบอาหารเพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชน
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า สถานการณ์ในตัวเมืองเริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำในแม่น้ำน่านลดต่ำกว่าตลิ่ง โดยทางจังหวัดและ ปภ. เร่งสูบน้ำออก คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1–2 วัน
นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงกรณีประชาชนกังวลต่อภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ในวัดภูมินทร์ว่าไม่ได้รับความเสียหาย ภาพที่เผยแพร่เป็นหุ่นจำลองด้านหน้าโบสถ์เท่านั้น ส่วนวัดที่ได้รับผลกระทบมี 26 แห่ง และจะมีการตรวจสอบโบราณสถานโดยกรมศิลปากรภายหลังที่สถานการณ์คลี่คลาย เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งถือเป็นพื้นที่รองรับมวลน้ำจากลุ่มน้ำยม โดยเฉพาะแม่น้ำยมสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย พร้อมรับฟังการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ณ ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ประตูระบายน้ำคลองหกบาท อ.สวรรคโลก จุดก่อสร้างสะพานรถไฟ (คลองยม–น่าน) อ.ศรีนคร จุดสะพานพระร่วง จุดเสี่ยงบริเวณคันแม่น้ำยมฝั่งขวา และประตูระบายน้ำ กม.22 อ.เมืองสุโขทัย ตามลำดับ
ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย อยู่ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำไหลหลากลงสู่ลำน้ำอย่างรวดเร็ว โดยบริเวณประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก ได้มีการหน่วงน้ำไว้ทางตอนเหนือของประตู พร้อมระบายผ่านคลองหกบาท คลองยมน่าน แม่น้ำยมสายเก่า และแม่น้ำน่าน เพื่อชะลอ ยอดน้ำก่อนเข้าสู่เขตเมือง รวมทั้งควบคุมการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ลงสู่แม่น้ำยมสายหลักอย่างระมัดระวัง เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานยังได้ระดมกำลังพลนำกระสอบทรายมาเสริมแนวป้องกันริมตลิ่งแม่น้ำยม โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มข้น ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเพิ่มเติม พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีกหลายจุดในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงนำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตักเศษซากวัชพืชที่ลอยมากับน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้นด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สุโขทัย ซึ่งเป็นจุดรับน้ำต่อจากจังหวัดพะเยาและแพร่ โดยมอบหมายให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจในตัวเมืองอย่างรอบด้านแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และกำหนดแนวทางช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนต่อไป
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ครั้งที่ 1/2568 ที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมการรับมืออุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน โดยมีหน่วยงานจากหลายจังหวัดร่วมประชุม พร้อมลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยงและสั่งการเร่งเสริมคันป้องกันน้ำให้แล้วเสร็จทันก่อนน้ำหลาก
การประชุมจัดขึ้นหลังเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักจากพายุโซนร้อน “วิภา” และอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงราย น่าน และพะเยา ซึ่งมีโอกาสเกิดฝนสูงถึง 70% ระหว่างวันที่ 26–28 กรกฎาคม จากนั้นปริมาณฝนจะลดลงในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ยังไม่น่าเป็นห่วงและมีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่มได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 70% มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำได้อีก 2,761 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมีการระบายน้ำอยู่ที่ 15 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งจะต้องวางแผนการระบายให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่จะตกมาเพิ่มเพื่อไม่ให้น้ำในเขื่อนเกินระดับเก็บกักน้ำสูงสุด ในขณะเดียวกันยังคงต้องให้เขื่อนสิริกิติ์เป็นกลไกสำคัญในการช่วยบริหารจัดการมวลน้ำที่ไหลผ่านลำน้ำยมและลำน้ำน่านด้วย
ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาแผนการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ มีมติเห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดการระบายน้ำลงอยู่ที่ 10 ล้าน ลบ.ม./วัน ในช่วงวันที่ 26 – 30 กรกฎาคม เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำที่ไหลผ่านจากลำน้ำยมไปสู่ลำน้ำน่าน โดยขอให้ทุกหน่วยงานช่วยสนับสนุนการเร่งการระบายน้ำโดยเร็วที่สุด ในช่วง 5 วันนี้ หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณฝนลดลง ให้ กฟผ. ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่จะกลับมาอีกในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งการปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ในครั้งนี้ ได้ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ด้วย
สำหรับโครงการบางระกำโมเดล ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลากได้เก็บเกี่ยวข้าวแล้วกว่า 91,000 ไร่ จากทั้งหมด 327,000 ไร่ คาดว่าจะพร้อมใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำได้ราว 400 ล้าน ลบ.ม. ภายในกลางเดือนสิงหาคม
ดร.สุรสีห์ ระบุว่า จากการลงพื้นที่ติดตามปริมาณน้ำในแต่ละจุด พบว่า ได้เตรียมการบริหารจัดการมวลน้ำที่คาดว่าจะมาสูงสุดในช่วงเช้าของวันที่ 27 กรกฎาคม โดยระบายน้ำส่วนหนึ่งผ่านคลองยม – น่าน และแม่น้ำยมสายเก่า และอีกส่วนระบายผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ แม่น้ำยมสายหลัก เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะผ่านตัวเมืองสุโขทัยให้อยู่ในระดับไม่เกิน 500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ก่อเกิดให้เกิดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจเมืองสุโขทัย และพบว่าหน่วยงานในพื้นที่ทุกจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่และเข้มแข็ง ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมการรองรับก่อนเกิดสถานการณ์ การบริหารจัดการในระหว่างเกิดสถานการณ์ ไปจนถึงการช่วยเหลือและฟื้นฟูเยียวยาหลังสถานการณ์ พร้อมให้ข้อเสนอแนะจากการปฏิบัติจริงในพื้นที่ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการอุทกภัยในระยะยาวต่อไป
จากอิทธิพลของพายุ “วิภา” ซึ่งแม้จะอ่อนกำลังลงแล้ว แต่ยังส่งผลกระทบรุนแรงในหลายจังหวัดภาคเหนือ โดยเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ และเลย รวม 246 ตำบล 1,348 หมู่บ้าน มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 115,000 คน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัดหลัก ได้แก่ น่าน เชียงราย พะเยา ลำปาง และแพร่ ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบ 25,241 ครัวเรือน หรือ 83,820 คน
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล และหน่วยสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัคร ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยในชีวิต การดำรงชีพ การแพทย์ และการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน พร้อมจัดตั้งศูนย์พักพิง และอพยพกลุ่มเปราะบางไปยังพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งตั้งโรงครัวพระราชทาน และจัดทีมแพทย์ดูแลร่างกายและจิตใจ
ทั้งนี้ ปภ. ได้แจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast อย่างเข้มข้นรวม 47 ครั้ง แยกเป็นภัยน้ำท่วม 38 ครั้ง และดินถล่ม 9 ครั้ง ล่าสุดได้เตือนประชาชนริมแม่น้ำยมใน จ.แพร่ และสุโขทัย ให้ยกของขึ้นที่สูงและเตรียมอพยพ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.วังชิ้น ศรีสำโรง และเมืองสุโขทัย ซึ่งระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่ง
สำหรับในพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลาย ปภ. ได้ส่งถุงยังชีพรวม 18,900 ชุด และสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่จากศูนย์ฯ เขตใกล้เคียงเข้าเร่งฟื้นฟูพื้นที่ ทั้งการฉีดล้าง ซ่อมแซมบ้านเรือน และสาธารณูปโภค พร้อมสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์โดยเร็ว
ส่วนจังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้รับคำสั่งให้เตรียมแนวป้องกันน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน โรงพยาบาล และจุดเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงเตรียมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้นในระยะต่อไป
ทั้งนี้ สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” เพิ่มเพื่อนที่ Line ID @1784DDPM หรือโทรสายด่วนนิรภัย (ปภ.) 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “วิภา” ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของประเทศ ระหว่างวันที่ 20–24 กรกฎาคม 2568 โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม เนื่องจากวงเงินทดรองราชการในอำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเดิมจำนวน 50 ล้านบาท ไม่เพียงพอรองรับภารกิจฉุกเฉิน ปภ. จึงเสนอของบเพิ่มเติมเพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยกรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วเห็นชอบให้ขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจอธิบดีฯ เพิ่มเป็น 100 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านการดำรงชีพและสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ประกาศเขตภัยพิบัติ ทั้งอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม พร้อมกำชับให้ดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังและเร่งรัดการจัดส่งเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายให้ครบถ้วน