นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดตราดเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา ณ ศาลากลางจังหวัดตราด มีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าร่วม โดยหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด รายงานว่า สถานการณ์ล่าสุดสามารถควบคุมการใช้อาวุธได้แล้ว และทางกัมพูชาได้มีการถอยร่นไปยังพื้นที่ของตน โดยทั้งสองฝ่ายยังตรึงกำลังเพื่อป้องกันสถานการณ์ ส่วนการอพยพประชาชนเข้ายังศูนย์พักพิงใน 3 อำเภอ รวม 16 แห่ง ประชาชนผู้อพยพ จำนวน 4,754 คน โดยมีแผนเตรียมสถานที่เพื่อรองรับผู้อพยพไว้ได้ราว 20,000 คน
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.ตราด ในครั้งนี้ เพราะเป็นพื้นที่ 1 ใน 6 จุดที่ทางกัมพูชาได้มีการใช้อาวุธยิงข้ามมาในพื้นที่ และกองทัพได้มีการประกาศกฎอัยการศึกไปก่อนหน้านี้ จึงเข้ามาตรวจสอบความพร้อมในการรับมือหากมีสถานการณ์ที่ลุกลาม ซึ่งได้ให้นโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนกัมพูชาทั้ง 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด ต้องรับผิดชอบในการ “พิทักษ์พื้นที่ส่วนหลัง” ปกป้องประชาชนจากการรุกรานของกัมพูชาที่ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ
สำหรับการพูดคุยกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยยินดีหยุดยิงโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนไทยเป็นหลัก และทางกัมพูชาต้องแสดงความจริงใจต่อการถอนกำลังและทำให้ประชาชนคนไทยสบายใจ เพราะที่ผ่านมาก็ยังมีการใช้อาวุธหนักเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย สร้างความเสียหายกับบ้านเรือนประชาชน โรงพยาบาล และปั๊มน้ำมัน ดังนั้น การตอบโต้ของประเทศไทย คือ การปกป้องความปลอดภัยของคนไทยเอง ประเทศไทยไม่ใช่ฝ่ายเข้าไปรุกรานทางกัมพูชาก่อน
“แนวหน้าเป็นเรื่องของทหาร แต่ขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองดูแลแนวหลังให้เต็มที่ รัฐบาลได้ขยายวงเงินทดรองจ่ายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่เกิดสถานการณ์แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการได้เต็มที่ ทั้งการดูแลเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ให้ครบ และฝากไปยังสื่อมวลชนให้ระมัดระวังเรื่องการสื่อสารที่เป็นการเปิดเผยพื้นที่ปลอดภัย เพราะอาจมีผลต่อทางยุทธการที่กำลังดำเนินการอยู่”
นายภูมิธรรม ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้
1) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นศูนย์กลางในการประสานงานและสั่งการให้ทุกหน่วยราชการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่
2) ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ตรวจตราอย่างเข้มข้นเพื่อดูแลบ้านเรือน ทรัพย์สินของราษฎร ที่เป็นผู้อพยพและมีความพร้อมอย่างเต็มที่ ที่จะสนับสนุนยุทธการทหารเมื่อมีการร้องขอ
3) ให้มีการพิทักษ์รักษาระบบเครือข่ายสื่อสารอย่างรอบคอบ รัดกุม ให้สามารถติดต่อสื่อสารกับประชาชน และเครือข่ายการปฏิบัติงานของกองทัพในแนวหน้า
จากนั้น ได้ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์พักพิงจังหวัดตราด เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1,000 คน มีทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชาที่เข้าพัก ต่างชื่นชมการดูแลของหน่วยงานในพื้นที่ และร่วมรับประทานอาหาร โดยย้ำว่ารัฐบาลจะดูแลให้ดีที่สุด พร้อมให้กำลังใจแรงงานชาวกัมพูชาว่าไทย พร้อมช่วยเหลือทุกกลุ่ม และจะพิจารณาแนวทางดำเนินการต่อไปเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีลงพื้นที่ให้กำลังใจ เยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ดังนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงผู้อพยพในอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการภายในศูนย์พักพิง ทั้งด้านอาหาร การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย และให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่ประสบภัย โดยคณะรัฐมนตรีทุกท่านจะทยอยลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจ และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างใกล้ชิด ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง และจะเร่งให้ความช่วยเหลือ เยียวยาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่และทันท่วงที ในฐานะเป็นประธานกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยได้อนุมัติเงินให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และทหารพราน ซึ่งได้มาเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวของผู้เสียชีวิต ส่วนครอบครัวที่สูญเสียลูกชาย จะเร่งตรวจสอบความถูกต้อง และอนุมัติเงินช่วยเหลือให้อย่างเร่งด่วนต่อไป
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อติดตามสถานการณ์และให้กำลังใจประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา โดยเดินทางไปที่ศูนย์อพยพชั่วคราว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เพื่อมอบสิ่งของและให้กำลังใจผู้ประสบภัย เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ผู้อพยพประมาณ 1,400 คน และเยี่ยมทหารบาดเจ็บจากสถานการณ์ชายแดน ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ พร้อมพูดคุยให้กำลังใจทั้งผู้บาดเจ็บและครอบครัว
ด้านนางสาวสุดาวรรณ ได้สั่งการให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ตั้งเป็น “ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยการปะทะชายแดน” ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และสระแก้ว โดยเป็นทั้งพื้นที่พักพิงหรือศูนย์อพยพชั่วคราวให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ มีการสนับสนุนบุคลากร และการใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยในการบรรเทาสถานการณ์อย่างเต็มกำลัง ทั้งอาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ หอประชุม โรงยิม ปรับเปลี่ยนมาเป็นห้องพักชั่วคราว และให้ อว.ส่วนหน้าในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยการปะทะชายแดน” เพิ่มเติม เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 4,600 คน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์อพยพในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา มอบถุงยังชีพและชุดเครื่องนอน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมทำหน้าที่เป็น “แนวหลัง” สนับสนุนภารกิจของกองทัพไทยในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องอพยพประชาชนจากพื้นที่แนวหน้า โดยยอมรับว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าย่อมมีความไม่พร้อม ตั้งแต่วันแรกของเหตุการณ์ได้สั่งหยุดภารกิจตามปกติของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและศูนย์อุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อเร่งรวบรวมสิ่งของจำเป็น ส่งต่อไปยังศูนย์พักพิงอย่างเต็มที่ และจะเดินทางต่อไปยังจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อนำข้าวสาร อาหารแห้ง อุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ ไปมอบให้กับผู้ประสบภัย พร้อมรับฟังความต้องการจากประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถจัดส่งความช่วยเหลือได้ตรงจุด และเตรียมเปิดศูนย์พักพิงเพิ่มเติมที่จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ เพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง
นายอนุชา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้อพยพจากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ พร้อมมอบชุดเด็กอ่อน ชุดหนังสือนิทาน และชุดของเล่น เยี่ยมเยียนประชาชน กลุ่มเปราะบาง ในศูนย์พักพิงชั่วคราว และติดตามการให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพจิต อาหาร น้ำดื่มสะอาด การป้องกันโรคติดต่อ รวมถึงสุขอนามัยในศูนย์พักพิง โดยใช้ระบบ MOPH PHR (ระบบบันทึกข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล) ฉุกเฉินช่วยแพทย์และบุคลากรทั้ง 7 จังหวัดชายแดน ให้เข้าถึงประวัติรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วและแม่นยำ ดูแลสุขภาพประชาชนในศูนย์พักพิงได้ทันทีในภาวะวิกฤต
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวในอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ได้ร่วมประกอบอาหารแจกจ่ายให้แก่ผู้อพยพ และพูดคุยให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ กำลังพล ที่ปฏิบัติงานในโรงครัวพระราชทาน รถประกอบอาหาร โดยแนะนำให้นายอำเภอจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวก เพื่อให้ผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลจากสถานการณ์ปัจจุบันและเน้นย้ำว่ารัฐบาลมุ่งมั่นตั้งใจดูแลประชาชนโดยยึดความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด